ในยุคดิจิทัลที่ไร้พรมแดน สิ่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับตัวเรามากที่สุดก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมต่อชีวิตเข้ากับโลกออนไลน์ในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการซื้อ-ขายออนไลน์ และการชำระเงิน ซึ่งทำให้การทำความเข้าใจและการเรียนรู้วิธีป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องจำเป็นอันดับต้น ๆ ในยุคนี้เลยก็ว่าได้
ข้อมูลส่วนบุคคลกับการเงินดิจิทัล
ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Personal Data คือข้อมูลที่ทำให้คนอื่นสามารถระบุหรือบอกได้ว่าเราเป็นใครทั้งในทางตรงและทางอ้อม ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลก็มีตั้งแต่ ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน, วัน/เดือน/ปีเกิด, เพศ ไปจนถึงที่อยู่
แน่นอนว่าเรามักจะใช้ข้อมูลสำคัญเหล่านี้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชี การเปิดพอร์ตลงทุน หรือการซื้อประกัน เพื่อป้องกันการแอบอ้าง ทุจริตทางการเงิน และการโจรกรรมข้อมูล ซึ่งเมื่อเรื่องเงิน ๆ ถูกผนวกเข้ากับโลกดิจิทัลที่ระบุตัวตนได้ยาก ข้อมูลส่วนบุคคลจึงยิ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการยืนยันตัวตนของเราก่อนจะทำธุรกรรมทุกชนิด
โดยปัจจุบันสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็มีนโยบายให้ผู้ให้บริการทางการเงินอย่าง ธนาคาร, E-Wallet และ E-Payment รวมถึงบริษัทประกันต้องทำ KYC หรือ Know Your Customer เพื่อพิสูจน์หรือระบุตัวตนของลูกค้า ป้องกันการฟอกเงินและการแอบอ้างในการทำธุรกรรม ทำให้ทุกครั้งที่เราสมัครแอปพลิเคชัน Market Place อย่าง Shopee, กระเป๋าเงินดิจิทัล ShopeePay, เริ่มต้นใช้ E-Banking ต่าง ๆ ก็จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน และภาพถ่ายปัจจุบันทุกครั้ง
นอกจากข้อมูลที่กล่าวไปแล้ว ข้อมูลส่วนบุคคลอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือข้อมูลที่เราใช้ในการลงทะเบียนเข้าใช้บริการออนไลน์ต่าง ๆ เช่น อีเมล์, ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่เป็นเกราะป้องกันอีกชั้นก่อนจะเริ่มใช้งาน
ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ลดความเสี่ยงภัยการเงินดิจิทัล
ด้วยความที่ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเหมือนรหัสผ่านในการทำธุรกรรม มีความสำคัญในการป้องกันภัยทางการเงิน เทียบเท่ากับกุญแจบ้านหรือรหัสตู้เซฟของเราเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็แปลว่าถ้าใครได้ข้อมูลเหล่านี้ไปเขาก็สามารถเข้ามาขโมยเงินในบัญชี หรือนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ไปใช้กู้เงิน เปิดบัตรเครดิต หรือทำสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ ซึ่งเราสามารถรักษาและป้องกันข้อมูลส่วนตัวได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ไม่ควร Log in หรือกรอกข้อมูลส่วนตัวบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคนอื่น หรือควรจะ Log out ก่อนเลิกใช้งานทุกครั้ง
- ไม่ควรตั้งรหัสผ่านจากข้อมูลที่เดาได้ง่าย เช่น วันเดือนปีเกิด หรือชื่อจริงของตัวเองมาเป็นรหัสผ่าน และควรมีการใช้ตัวเลขและตัวอักษรรวมกันในรหัสผ่านด้วย
- ไม่ควรบอกรหัสผ่านส่วนตัวให้ใครรู้ ไม่ควรจดไว้ในคอมพิวเตอร์ หรือบนโลกออนไลน์ และควรจดข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ที่ค้นหาได้ยาก
- ไม่คลิกลิงก์แปลก ๆ ที่ส่งมาใน SMS หรือ อีเมล เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูล
- ไม่ควรรับสายโทรศัพท์เลขหมายต่างประเทศโดยไม่จำเป็น และไม่ควรบอกกล่าวข้อมูลส่วนตัวให้กับคนอื่นผ่านการคุยโทรศัพท์
สถานที่ทุกที่ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง และการใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยง ดังนั้นแล้วเราควรจะหลีกเลี่ยงการนำเอาข้อมูลสำคัญไปแชร์ในที่สาธารณะ หรือวางทิ้งไว้อย่างเปิดเผย เพื่อป้องกันภัยต่าง ๆ รวมถึงป้องกันเงินในกระเป๋าของเราด้วย
เรียนรู้สเต็ปง่าย ๆ และทิปส์ในการป้องกันข้อมูลของเราในยุคดิจิทัลเพิ่มเติมได้ที่ ข้อมูลสำคัญคือหัวใจ รู้เท่าทันการป้องกันภัยการเงินดิจิทัล